Electoral College

Electoral College
Electoral College

Electoral College -จากข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีศัพท์คำหนึ่งที่พบไม่บ่อย แต่ความหมายต่างไปจากที่คุ้นกัน มักแปลไทยว่า ‘คณะเลือกตั้งประธานาธิบดี’

นอกจะหมายถึงวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา college ยังสื่อถึงกลุ่มวิชาชีพที่มีเป้าหมายหรือภาระกิจร่วมกัน พอประกบกับคำ electoral รูปคุณศัพท์หนึ่งของ election/elector (การเลือกตั้ง/ผู้เลือกตั้ง) ก็สื่อถึงกลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่ไปลงคะแนนเลือกตั้ง(แทนเสียงของคนทั้งหมดที่มาใช้สิทธิ์)

สหรัฐมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง เมื่อนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีของแต่ละมลรัฐเสร็จ จะใช้ระบบ Winner Takes All คือคู่ชิงประธานาธิบดี(ซึ่งผลัดกันระหว่างสองพรรคใหญ่  Democratic และ Republican) ที่ชนะเสียงในรัฐนั้นจะได้จำนวนเสียงของคณะเลือกตั้งฯของรัฐนั้นๆ ยกไปทั้งหมด ไม่แตกออกไปตามฐานคะแนนเสียงของประชาชนรายบุคคลที่เรียกว่า popular vote (เว้นเพียง Nebraska กับ Maine) จำนวน electoral voter แต่ละรัฐจะตามฐานจำนวนประชากร รัฐพลเมืองมากก็มีเสียงมาก เช่น California มี 55 และ Texas มี 38 เสียง ส่วนรัฐเล็กอย่าง Delaware และ Montana มีแค่ 3  โดย electoral college จะไปลงเสียงต่อในรอบระดับประเทศซ้ำอีกที

ทำให้ผู้สมัครบางคนอาจได้จำนวน popular vote นับรวมทั่วประเทศชนะคู่แข่ง แต่ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีก็ได้ เพราะอาจไปชนะในรัฐที่มีเสียง electoral college น้อย และอาจแพ้แบบคู่คี่ในรัฐที่มีเสียงมาก สถานการณ์นี้มักเกิดขึ้นกับกรณีที่คะแนนสูสี ไม่ชนะขาดแบบถล่มทลาย (landslide victory) ซี่งในยุคร่วมสมัย เกิดกรณีนี้ขึ้นแล้วสองครั้ง ตอน Al Gore แพ้ George W. Bush ปี 2000 และเมื่อ Hillary Clinton แพ้ Donald Trump ปี 2016

ทั้งนี้เคยเกิดกรณีที่บาง electoral voter ไม่ยอมโหวตเทเสียงยกรัฐตามประเพณี ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่รัฐว่าจะมีบทลงโทษต่อผู้ที่เรียกว่า faithless elector นี้อย่างไร นอกจาก อินเดีย เมียนมาร์ ปากีสถาน และอีกบางประเทศ ก็ใช้ระบบ electoral voting เช่นเดียวกัน