Like, Alike & The Likes

Like, Alike & The Likes
Like, Alike & The Likes

Like, Alike & The Likes – นอกจากรูปกริยาที่หมายถึง ชอบใครหรือบางสิ่งบางอย่าง หรือพึงประสงค์ที่จะเลือกทำอะไร หรือให้เกิดอะไรบางอย่างเป็นพิเศษแล้ว คำ ‘like’ ยังสามารถเป็นคำบุพบทที่ตามหลัง verb to be, กลุ่ม linking verb บางตัว (อย่าง look ในรูป look like) รวมถึง ตามหลังคำกริยาทั่วไป แล้วตามต่อด้วยคำนาม ได้อีกด้วย ซึ่งในกรณีนี้ หมายถึงมีลักษณะ หรือคุณสมบัติคล้ายใครบางคน บางสิ่งบางอย่าง หรือบางการกระทำ (ตัวอย่าง He eats like a pig – เขากินน่าเกลียดเหมือนหมู)

แต่ทั้งนี้ ยังมีคำ alike ที่มีหน้าที่คล้ายคลึงกัน โดยอยู่ตามหลัง verb to be เพื่อแสดงความมีลักษณะเหมือนกัน เช่นกัน

แล้วอะไรคือความแตกต่างระหว่าง like กับ alike

ในแง่ระดับความคล้ายคลึงของสิ่งที่ถูกนำมาเทียบกัน การใช้ like จะเป็นไปในระดับใดที่คล้ายกัน จะมากหรือน้อยก็ได้  ส่วน alike นั้นจะเป็นระดับที่คล้ายเหมือนกันมากๆ

นอกจากนี้ การใช้ like ยังเป็นกรณีของการนำคุณสมบัติบางส่วนของใครหรือสิ่งใด หรือกลุ่มคนหรือกลุ่มของใน set เดียวกัน ไปเทียบอีกคนหรืออีกสิ่งหนึ่ง โดยคำกริยาที่ตามมาจะอยู่ในรูปเอกพจน์ ส่วน alike เป็นการนำสองคนหรือสองสิ่งขึ้นไปมาเทียบกันว่าดูเหมือนกันไปหมด และคำกริยาที่ตามมาจะอยู่ในรูปพหูพจน์ ดังตัวอย่างเปรียบเทียบต่อไปนี้

ตัวอย่าง

  • A: What does she look like? (เธอดูมีลักษณะอะไรบ้าง – อย่าใช้ How does she look like? เป็นประโยคใช้ผิดที่พบบ่อย)
  • B: Jill is like Joy, but she is a lot like Jan. Jill and Jan are very much alike. (จิลคล้ายจอย แต่เธอคล้ายแจนมากๆ ทั้งจิลและแจนมีลักษณะเหมือนกัน)
  • I hate all men. They’re all alike. (ฉันเกลียดผู้ชายทั้งหมดทุกคน พวกเขา(มีนิสัย)เหมือนกันหมด)

Like ในฐานะเป็นคำนาม

แต่ทราบกันหรือไม่ว่า like มีหน้าที่เป็นคำนามได้ด้วย นอกจากที่พบกันบ่อยตอนเอ่ยถึงยอดการกด like ใน Facebook แล้ว (ตย. How many likes do you have on Facebook?) ยังมีการใช้ในบริบทอื่นด้วย

กรณีแรก ‘and the like(s)‘ โดยปรากฏการใช้ในส่วนท้ายประโยค เพื่อแทน(กลุ่ม)คนหรือ(กลุ่ม)สิ่งของที่มีลักษณะคล้ายกับบริบทที่เกริ่นมาก่อนหน้า

Football players, basketball players, tennis players, and the likes. (พวกนักฟุตบอล นักบาสเกตบอล นักเทนนิส และพวกนักกีฬาอื่นๆในทำนองเดียวกัน)

กรณีที่สอง ‘the likes of‘ ใช้เพื่ออ้างอิงถืงคุณสมบัติของคนหรือสิ่งของตามคำนามที่ตามหลัง of

Our new boss doesn’t appreciate the likes of us. (เจ้านายไม่ปลื้มคนอย่างพวกเรา)

กรณีที่สาม ‘like(s)’ คือใช้แทนความหมายว่าการชอบ (หรือไม่ชอบ ในกรณีคำ dislike) คล้ายกับคำว่า liking และยังอยู่ในรูปสำนวน ‘likes and dislikes’ ที่แปลว่าการชอบและการไม่ชอบ

Her likes include Thai, Japanese, and Mexican food. (ที่เธอชอบก็มีอาหารไทย อาหารญี่ปุ่น และอาหารเม็กซิกัน)

I really want to know his likes and dislikes. (ฉันอยากรู้ว่าเขาชอบและไม่ชอบอะไรบ้าง)

สังเกตได้ว่า like ในฐานะคำนามนั้น มักอยู่ในรูปพหูพจน์

Like ในฐานะเป็นคำเชื่อมและกริยาวิเศษณ์

ทั้งนี้ เราก็ไม่ควร ลืม like ในหน้าที่อื่นๆ อย่างเป็นตัวเชื่อมสองวลีเข้าด้วยกัน และเป็นคำกริยาวิเศษณ์ ที่มักพบในภาษาพูด

ตัวอย่าง

ในฐานะเป็นคำเชื่อม – Burning with anger, our teacher looks like she is about to kick us out of the class. (ครูของเราดูเหมือนกำลังโกรธมากจนจะไล่เราออกนอกชั้นเรียน)

ในฐานะเป็นคำวิเศษณ์ – She said, like, we cannot repeat this course. (เธอพูดทำนองว่าเราไม่สามารถเรียนซ้ำวิชานี้ได้)

รวมถึงอย่าสับสน like ที่ตามหลัง would เป็นกริยาวลี would like ที่เป็นรูปสุภาพของการแสดงความประสงค์ว่าอยากจะทำอะไรด้วย อย่างที่เรามักใช้ I would like …. ขึ้นต้นประโยคนั่นเอง